โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยอาจเกิดจาดภาวะขาดเลือดหรือเลือดออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณใบหน้า แขน ขาซีกใดซีกหนึ่ง มีอาการเดินเซ สูญเสียการทรงตัว มีการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น เห็นภาพซ้อน มีการใช้ภาษาผิดปกติ การพูดไม่ชัด การพูดจาสับสน

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจบางประเภท เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation หรือ AF) หรือโรคที่เกี่ยวกับลิ้นหัวใจผิดปกติ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคนั้น ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาล โดยแพทย์ต้องทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan 160 slices) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MR Scan) เป็นต้น

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคซึ่งจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากภาวะสมองขาดเลือดที่มาโรงพยาบาลภายใน 4.5 – 6 ชั่วโมง และมีข้อบงชี้อย่างชัดเจนแพทย์จะทำการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำเพื่อเปิดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือใช้สายสวนบริเวณขาหนีบเพื่อไปลากลิ่มเลือดที่ไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่วนในกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากเลือดออกการรักษาคือการควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยใช้ยาลดความดันทางหลอดเลือดดำ รวมพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะหากมีข้อบ่งชี้ ซึ่งการรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเกิดโรค ดังนั้นหากพบอาการสงสัยโรคหลอดเลือดสมองควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ข้อมูลดีๆ จาก.. นายแพทย์ภัทรวุฒิ เรืองวานิช อายุรแพทย์ประสาทวิทยา อนุสาขาโรคหลอดเลือดสมอง
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว

ที่มา : https://www.thetaradev.com